เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้🍪
เราใช้ Cookies เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีที่สุด สรุปนโยบายความเป็นส่วนตัวและ Cookies อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ท่านที่เคยมีประสบการณ์เมื่อลูกชักจากไข้คงเข้าใจความทุกข์ใจนี้เป็นอย่างดี เมื่อเห็นลูกมีอาการชักกระตุก ปากเบี้ยว ส่วนใหญ่แล้วจะรีบเอาสิ่งของงัดปาก หรือใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในปากเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกัดลิ้น แม้ตัวเองจะถูกกัดบ้าง.. ก็ยอม เพราะความตกใจอย่างฉับพลัน หัวใจเหมือนจะหยุดเต้นจนทำอะไรไม่ถูก เด็กบางคนจะมีอาการเขียวทั้งตัวราวกับว่าจะหยุดหายใจ
สมองของเด็กเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน แม้เมื่อเด็กเกิดมาแล้ว เซลล์ประสาทสมองและเยื่อหุ้มเส้นประสาทก็ยังต้องเจริญเติบโตต่อไปอีกเรื่อย ๆ จนอายุประมาณ 6 ปี สมองจึงจะเจริญเติบโตเต็มที่ เซลล์ประสาทสมองของเด็กเล็กจึงไวต่อการตอบสนอง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดการชักได้ นอกจากการชักจากไข้ในเด็กแล้ว ปัจจัยด้านพันธุกรรมมาก็เกี่ยวข้องด้วย พ่อแม่ที่มีประวัติไข้แล้วชักในวัยเด็กจึงมีโอกาสชักเมื่อมีไข้เช่นกัน
อุบัติการณ์ของการเกิดไข้แล้วชักในเด็กนี้มีไม่น้อยคือ พบได้ในอัตรา 2-5 ต่อเด็ก 100 คนและมักพบในอายุระหว่าง 3 เดือน ถึง 5 ปี โดยพบมากในช่วงอายุระหว่าง 1-2 ปี และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจส่วนบนรวมทั้งโรคหูชั้นกลางอักเสบ
เมื่อใดที่ลูกไม่สบายหรือมีไข้ ควรทานยาลดไข้และเช็ดตัวจนไข้ลดลง ยาลดไข้พาราเซตตามอลควรมีประจำบ้านไว้ตลอดเวลา เมื่อใดที่ลูกมีไข้จะสามารถให้ยาลดไข้นี้ได้ทันที การทานยาในขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสมร่วมกับการเช็ดตัวที่ถูกต้องจะช่วยให้ไข้ลดลงได้ กล่าวคือ ยาลดไข้ควรให้ทุก 4 ชั่วโมง และที่สำคัญคือถึงช่วงกลางคืนแล้วยังมีไข้อยู่ ผู้ปกครองต้องไม่ลืมให้ยาลดไข้และเช็ดตัวในด้วย เพราะเด็กมีโอกาสชักในช่วงเวลากลางคืนได้บ่อยมาก
โดยทั่วไปหนึ่งในสามคนของเด็กที่ชักจากไข้จะมีโอกาสชักซ้ำจากไข้ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีอายุช่วงขวบปีแรกมีโอกาสชักบ่อยกว่าเด็กโต กุมารแพทย์จะใช้ดุลยพินิจให้ยากันชักเพื่อหยุดยั้งอาการ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวังตามคำแนะนำของแพทย์ เด็กบางคนจำเป็นต้องทานยากันชักอย่างต่อเนื่อง
เมื่อลูกป่วยเป็นภาวะชักจากไข้แล้วจะมีปัญหาทางสมองไหมคะ ? ลูกจะกลายเป็นเด็กปัญญาอ่อนหรือไม่ ? จะเรียนหนังสือได้ปกติหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วถ้าชักจากไข้ จะไม่เกิดปัญหาทางสมองแต่อย่างใด เมื่อหายก็กลับเป็นปรกติ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalography : EEG) เป็นการตรวจดูความผิดปรกติของกระแสไฟฟ้าที่ส่งจากเซลล์ผิวสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักทุกราย ทั้งยังใช้ตรวจกับผู้ป่วยบางรายที่ชักจากไข้ต่ำ ชักเฉพาะส่วนของร่างกาย ชักนานกว่า 15 นาที ชักมากกว่า 1 ครั้ง/ไข้รอบนี้ ชักหลังมีไข้เกิน 24 ชั่วโมงและอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของสมองจากอาการไข้ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการชัก
เมื่อลูกมีไข้แล้วชัก ควรตั้งสติ จับลูกนอนตะแคงเพื่อไม่ให้ลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวจนไข้ลด และพาเด็กเข้าพบกุมารแพทย์
แก้ไขล่าสุด
15/11/64