เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้🍪
เราใช้ Cookies เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีที่สุด สรุปนโยบายความเป็นส่วนตัวและ Cookies อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
ผู้ป่วยเบาหวานหลายท่านคงทราบดีแล้วว่า ‘แผลเบาหวาน’ คือ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ผู้ป่วยทุกคนต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ในขณะเดียวกันหากเกิดบาดแผลขึ้นแล้ว หลายคนก็อาจกำลังสงสัยว่าควรดูแลอย่างไร ไม่ให้บาดแผลลุกลาม? แท้จริงแล้ว เราสามารถดูแลแผลเบาหวานไม่ให้อักเสบลุกลามได้ เพียงแค่เอาใจใส่บาดแผล และรับการรักษาที่ต้นเหตุอย่างตรงจุด นอกจากนี้ การศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับแผลเบาหวานและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตัดนิ้วหรือตัดขา และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ดูแลแผลเบาหวานอย่างไรไม่ให้ลุกลาม ไม่ได้ดูแลยากอย่างที่คิด ผู้ป่วยสามารถดูแลได้โดยทำตามวิธีต่าง ๆ ประกอบไปด้วย
เราควรควบคุมระดับน้ำตาลด้วยการเลี่ยงการทานมื้อใดมื้อหนึ่งที่มากเกินไป นอกจากนี้ควรดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและตรวจค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
เราควรจำกัดปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว รวมถึงผลไม้ ขนมหวาน และเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ขณะเดียวกันควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนซึ่งอุดมด้วยใยอาหาร เช่น ข้าวหรือแป้งที่ไม่ขัดสี ธัญพืชหลากชนิด นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
เราควรหมั่นทำความสะอาดแผลให้ปราศจากเชื้อโรคด้วยการล้างแผลด้วยน้ำสบู่ น้ำอุ่น หรือน้ำเกลืออย่างน้อย 2-4 ครั้งต่อวัน และเช็ดแผลให้แห้งสนิททุกครั้ง หลังจากนั้นทายาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งและปิดแผลด้วยผ้าก๊อซที่สะอาด
หมายเหตุ ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาด เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อบาดแผล
เราควรตรวจเท้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าและควรล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งแล้ว เราสามารถใช้โลชั่นทาให้ทั่วเพื่อให้ผิวอ่อนนุ่ม แต่ควรหลีกเลี่ยงการทาบำรุงบริเวณซอกนิ้วเท้าเพราะว่าเป็นบริเวณที่เกิดความอับชื้นได้ง่าย
เราควรเลือกสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยซึ่งผลิตจากวัสดุที่ยืดหยุ่น ระบายความชื้น อากาศได้ดีและน้ำหนักเบา นอกจากนี้หากมีส่วนคลุมหน้าเท้าและมีพื้นรองเท้าดอกยางกันลื่นด้วยก็สามารถป้องกันอุบัติเหตุ
หมายเหตุ หลีกเลี่ยงรองเท้าแตะแบบคีบ เพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีจนเกิดบาดแผลช่วงง่ามนิ้วเท้าได้
การออกกำลังกายสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ โดยผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกประเภทการออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักหรือเน้นการออกกำลังกายด้วยแขน
เราควรทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ควรปรับหรือลดขนาดยาเองตามความรู้สึก ที่สำคัญคือห้ามซื้อยาชุดมารับประทานเองและปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยาต่าง ๆ
เราควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรยกเลิกหรือเลื่อนนัดแม้รู้สึกว่าอาการของแผลดีขึ้น ระหว่างที่แพทย์นัด หากพบว่าเกิดบาดแผลหรือความผิดปกติบริเวณปลายมือหรือเท้า เราควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการวินิจฉัยโดยละเอียด
สัญญาณเตือนการเกิดแผลโรคเบาหวานเช็กเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง และเมื่อมีอาการแล้ว ก็สามารถดูแลเพื่อป้องกันการลุกลามได้ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นต้องสงสัยว่าตัวเองจะเป็นแผลเบาหวานหรือไม่ เราควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และเรียนรู้ภาวะแทรกซ้อนจากแผลเบาหวาน