ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ภาวะไม่ปรกติที่ไม่ควรปล่อยไว้หรือรักษาเอง

March 04 / 2025

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

 

 

 

     ภาวะลำไส้อักเสบเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก บางครั้งอาจเกิดจากอาหารแปรรูปที่เราทาน แต่บางครั้งก็มาจากสาเหตุอื่นที่เกินควบคุม หากอาการไม่หยุดอยู่แค่ถ่ายบ่อยแต่ถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วยก็ไม่ใช่ภาวะปรกติที่ควรปล่อยไว้หรือหายารักษาเอง 

 

โรคลำไส้อักเสบ

     โรคลำไส้อักเสบ (IBD :  Inflammation Bowel Disease) เป็นภาวะอักเสบบริเวณทางเดินอาหาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย เช่น ถ่ายมากและบ่อย ถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดเกร็งท้อง โดยทั่วไปยังแบ่งเป็นโรคย่อยอีก 2 ชนิด

 

ชนิดย่อยของโรคลำไส้อักเสบ

1. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิดเป็นแผล 

     ภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อบุผนังของลำไส้จนเกิดแผล โดยมักเริ่มเกิดอาการบริเวณไส้ตรงก่อนจะลุกลามไปยังส่วนอื่นของลำไส้ตามแต่ความรุนแรงของโรค การอักเสบดังกล่าวทำให้เลือดออกในลำไส้ เมื่อลำไส้บีบตัวจึงส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการท้องเสียบ่อย ปวดเกร็งช่องท้อง อุจจาระมีมูกเลือดปนและน้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ 


 


นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะอ่อนเพลีย เนื่องจากสูญเสียน้ำ สารอาหาร โปรตีน เลือดและของเหลวอื่นซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเลือดจางร่วม


 

 

2.  โรคโครห์น

     โรคโครห์น (Crohn’s Disease) เป็นภาวะอักเสบที่เกิดได้ตลอดแนวระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ถึงไส้ตรง การอักเสบอาจลงลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ลำไส้อุดตัน ลำไส้ทะลุ

 

 

 

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

 

 

 

สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรค เช่น 

 

  • การสูบหรี่
  • ภาวะเครียด
  • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปรกติ
  • การรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดโรค เช่น นม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัยหรือมีเชื้อปนเปื้อน 
  • เหตุจากพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบจะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงถึง 20 เปอร์เซ็นต์

 

ผลข้างเคียงของโรค

     เมื่อเป็นลำไส้เกิดอักเสบนานวันเข้า ก็ยิ่งเกิดผลข้างเคียงของโรค หนึ่งในนั้นคือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ บางรายอาจเกิดภาวะลำไส้ทะลุ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยปวดเกร็งพร้อมกับอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรง 

 

 

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

 

การวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ บริเวณเยื่อบุลำไส้เพื่อส่งตรวจด้วยการส่องกล้อง

 

  • การเจาะเลือด เพื่อหาค่าอักเสบ ภาวะโลหิตจางและข้อบ่งชี้อื่นว่าติดเชื้อใดหรือไม่
  • การตรวจอุจจาระ แพทย์ใช้เพื่อดูเซลล์เม็ดเลือดขาวและโปรตีนที่บ่งชี้ถึงการอักเสบและติดเชื้อ
  • Colonoscopy หรือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แพทย์จะใช้ท่อเล็กยาวสอดผ่านทวารหนักเพื่อดูความผิดปรกติถึงส่วนลึกของลำไส้
  • การตรวจด้วย CT Scan เพื่อให้เห็นขอบเขตของรอยโรคและคัดแยกออกจากภาวะลำไส้ทะลุ

 

การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

  • การรักษาด้วยยา แพทย์จะเลือกใช้ชนิดยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย เช่น ยาลดการอักเสบ ยายับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน การชีววัตถุเพื่อมุ่งลดทอนระบบภูมิคุ้มกันตัวจำเพาะ
  • ยาปฏิชีวนะ วิธีนี้ใช้กรณีที่พบการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
  • การผ่าตัด กรณีที่ไม่สามารถทุเลาอาการด้วยยาและลำไส้ได้รับความเสียหายไปมากแล้ว แพทย์อาจใช้ดุลยพินิจเลือกการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่มีการอักเสบออก (Colectomy) เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย

 

 

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

 

 

การป้องกันตัวเองจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และสะอาด

 

  • ล้างมือทุกครั้งก่อน-หลังการรับประทานอาหาร
  • ลดการทานอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก ไอศกรีม เค้ก อาหารกระป๋อง
  • ทดแทนอาหารแปรรูปด้วยอาหารที่มีกากใยสูงอย่างผักผลไม้เนื้อนุ่มที่มีรสอ่อน
  • เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทุกปี โดยเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ (Colonoscopy) ร่วมด้วย เพื่อดูความผิดปรกติที่เกิดขึ้น

 

 

อ่านเพิ่มเติม : รู้วิธีทุเลาโรคด้วยอาหารสำหรับผู้ป่วยลำไส้อักเสบ

 

 

 

สล็อต