เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้🍪
เราใช้ Cookies เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีที่สุด สรุปนโยบายความเป็นส่วนตัวและ Cookies อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ได้เป็นเพียงโรคความเสื่อมจากอายุที่เพิ่มขึ้น แต่สามารถเกิดได้ทุกชั่วขณะที่เราใช้ชีวิต บางครั้งอาจเกิดจากการใช้ขาก้าวเดินมากเกินไปหรือการออกกำลังกายที่หักโหมเกินกำลัง สิ่งแรกที่ควรทำคือการลดชะลอความเสื่อมที่เกิดขึ้น การเลือกอาหารจึงสำคัญมากกับข้อเข่าของเรา เลือกอย่างไรช่วยชะลอ เลี่ยงอย่างไรให้เหมาะสม วันนี้หมอและนักกำหนดอาหารมีคำตอบค่ะ
อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 มีส่วนช่วยลดการอักเสบของข้อต่อได้ ซึ่งพบมากในปลาน้ำทะเลลึกที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาโอ ปลาซาบะ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรเลือกการทานแบบต้ม นึ่งหรืออบแทนแบบทอด เนื่องจากการทอดทำให้เราได้รับพลังงานสูง ดังนั้นควรทานแต่พอดี
อาหารกลุ่มวิตามินซีสูงมีส่วนช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนในข้อต่อ โดยทั่วไปหาทานได้จากอาหารหลายแบบ เช่น ส้ม ฝรั่ง สับปะรด มะละกอสุก
เราสามารถรับวิตามินดีได้ทั้งจากการสัมผัสกับแสงแดดและการรับประทานอาหาร เช่น นม ไข่แดง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน เห็ด โดยวิตามินดีมีบทบาทสำคัญช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก การได้รับวิตามินดีควบคู่กับโปรตีนและแคลเซียมที่เพียงพอ มีส่วนลดโอกาสเกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็กและโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ
เนื่องจากอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและเบตาแคโรทีนมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของข้อต่อ อีกทั้งยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการมองเห็น นอกจากนี้การเลือกทานตามหลักผักผลไม้ 5 สีซึ่งอุดมด้วยสารพฤกษเคมีอย่าง ‘ไฟโตนิวเทรียนต์’ (Phytonutrient) ก็มีส่วนช่วยลดการอักเสบได้เช่นกัน
พบมากในผักใบเขียว ซึ่งมีสารคลอโรฟิลล์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและป้องกันมะเร็ง เช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดหอม บรอกโคลี กีวี องุ่นเขียว อโวคาโด
ผักผลไม้สีแดงมีสารไลโคปีนและเบต้าไซซิน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและช่วยให้หัวใจแข็งแรง โดยทั่วไปพบได้ในมะเขือเทศ บีทรูท ดอกกระเจี๊ยบ พริกหวานแดง แตงโม ทับทิม แอปเปิลแดง
ผักผลไม้สีเหลืองส้มมีสารเบต้าแคโรทีนและลูทีน ซึ่งช่วยรักษาสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด ต้านการอักเสบ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและบำรุงสายตา เราสามารถพบได้จากผักผลไม้หลายชนิด เช่น แครอท ฟักทอง กล้วย ส้ม มะละกอสุก มะม่วงสุก ข้าวโพด
ผักผลไม้สีม่วงและน้ำเงินมีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ เช่น มะเขือม่วง กะหล่ำปลีม่วง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี
ผักผลไม้สีขาวและน้ำตาลอ่อนมีสารแซนโทน กรดไซแนปติกและอัลลิซิน ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ หัวไชเท้า ดอกกะหล่ำ ดอกแค ผักกาดขาว เห็ด เงาะ ลองกอง
อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น อาหารทอด ของหวาน น้ำหวาน เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือบุคคลทั่วไปควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากหากรับประทานอย่างต่อเนื่อง น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น เพิ่มภาระให้ข้อเข่าจากการเป็นโรคอ้วน และเพิ่มโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น เช่น โรคเบาหวาน ไขมันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงอาจทำให้สูญเสียแคลเซียมในร่างกาย นอกจากนี้หากหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จะช่วยลดภาวะเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมจากการอักเสบได้มาก
ข้อมูลโดย
ศศิภา กรินทรากุล
นักกำหนดอาหาร